การกินผลไม้ ช่วยให้น้ำหนักลดลงได้จริงหรือไม่
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินว่า ผลไม้ มักถูกนำมาใช้เป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนัก แล้วสิ่งที่ทำให้น้ำหนักลดลงได้คืออะไร สิ่งสำคัญในผลไม้ที่ช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ นั่นก็คือ ใยอาหารหรือไฟเบอร์ (Fiber) นั่นเอง โดยใยอาหาร สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ
- ใยอาหารละลายน้ำ (Soluble fiber) มีคุณสมบัติช่วยดูดซับน้ำตาลและไขมัน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดได้ดี มักพบมากใน ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม ฝรั่ง แอปเปิ้ล ลูกพรุน กล้วย
- ใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble fiber) ใยอาหารตัวนี้ไม่ละลายน้ำ แต่จะพองตัวได้ในน้ำ ทำให้ไปเพิ่มปริมาตรในกระเพาะอาหารทำให้รู้สึกอิ่ม และช่วยเพิ่มกากใยในลำไส้ กระตุ้นการขับถ่าย ลดอาการท้องผูก มักพบมากในตระกูลธัญพืช ถั่วเปลือกแข็งต่าง ๆ ซึ่งในผลไม้ก็พบเช่นเดียวกัน
ซึ่งผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนักหรือลดความอ้วน สามารถเลือกกินผลไม้แบบมีใยอาหารที่ละลายน้ำและแบบไม่ละลายน้ำควบคู่กันไปได้เลย แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงเพิ่มเติม คือ ค่าดัชนีน้ำตาลในผลไม้ หรือ ค่า GI (Glycemic Index) เป็นค่าอัตราความเร็วของการเปลี่ยนแปลงของอาหารที่กินและเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลในร่างกายเพื่อดูดซึม เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาลกลูโคสที่มีค่า GI = 100
โดยผลไม้ที่เหมาะกับผู้ที่กำลังลดน้ำหนักควรเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เพราะจะทำให้น้ำตาลในเลือดค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เนื่องจากมีใยอาหารที่สูง ทำให้อิ่มท้องนาน ไม่หิวง่าย และควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง เนื่องจาก ผลไม้จะถูกย่อยและกลายเป็นน้ำตาลได้เร็ว ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อมาช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งการที่ร่างกายมีการหลั่งอินซูลินบ่อย ๆ และเป็นประจำ จะส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) จะทำให้ร่างกายหิวง่าย และบ่อยมากขึ้น จึงจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นตามมาด้วยนั่นเอง
- ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (GI ≤ 55) ได้แก่ ฝรั่ง กีวี แอปเปิ้ล แก้วมังกร สตรอเบอรรี่ ส้ม ชมพู่ สาลี่
- ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (GI ≥ 70) ได้แก่ กล้วยหอมสุก ลำไย แตงโม ขนุน ลิ้นจี่ ทุเรียน สับปะรด อินทผาลัม มะขามหวาน
ดังนั้น การกินผลไม้ เพื่อช่วยในการลดน้ำหนักนั้นเป็นความจริง แต่ไม่ใช่เราจะสามารถกินแต่ผลไม้อย่างเดียว ไม่ได้ทานอาหารชนิดอื่นเลย ซึ่งอาจจะทำให้เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารได้ จึงแนะนำว่า ให้กินผลไม้เป็นมื้ออาหารว่าง ทดแทนการกินขนมขบเคี้ยวหรือเบเกอรี่ต่าง ๆ เพราะจะช่วยลดพลังงานที่ได้รับต่อวัน อีกทั้งยังได้รับใยอาหาร ทำให้อิ่มท้อง ไม่หิวง่ายอีกด้วย
If you suffer from constant stomach pain, rashes or tiredness your symptoms might come from intolerances to food, dust or other items in your environment. Listen to your body and do not hesitate to check your intolerant status today. Untreated intolerances can become chronic and should be detected and treated as early as possible.
Check also for further information:
1. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2010). คุณค่าทางโภชนาการในผลไม้. [กรมอนามัย ออนไลน์]
2. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2020). ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน สำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. [สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ออนไลน์]