ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food intolerance) และ ภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition)
ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food intolerance) สามารถเกิดขึ้นในทุก ๆ เพศ และทุก ๆ วัย และอย่างที่ทราบกันดีว่า ไม่มีวิธีการรักษาอาการแพ้อาหารเหล่านี้ได้ นอกเสียจากทำการเลี่ยงสารที่จะก่อให้เกิดการแพ้ หรือหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หลาย ๆ งานวิจัย พบว่า ผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการได้
โดย ภาวะทุพโภชนาการหรือภาวะการขาดสารอาหารนั้น เป็นสาเหตุมาจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทั้งสารอาหารหลัก (macronutrient) และสารอาหารรอง (micronutrient) โดยเราจะสามารถเห็นอาการเหล่านี้บ่อย ๆ ที่บ่งบอกถึงการขาดสารอาหาร ได้แก่ ภาวะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ซูบผอม กล้ามเนื้อลีบ ภาวะกระดูกพรุน เป็นต้น
เนื่องจากผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง จะพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนั้น ๆ ที่จะก่อให้เกิดอาการแพ้ หรืออาการไม่สบายตัว เช่น อาการท้องผูก ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย คัดจมูก เป็นสิว ตัวบวม เป็นต้น เป็นผลให้เกิดการรับประทานน้อยลง หรืองดอาหารประเภทนั้น ๆ โดยจะขอยกตัวอย่าง ผู้ที่มีภูมิแพ้อาหารแฝงจำพวกกลุ่มนม ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงนม เพราะจะทำให้เกิดอาการท้องอืด ปวดท้อง หรือท้องเสียได้ ซึ่งเมื่อมีการหลีกเลี่ยงการดื่มนมแล้วจะส่งผลต่อการขาดสารอาหาร จำพวกแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีนในระยะยาว เพราะฉะนั้นแล้วในเชิงของโภชนาการจำเป็นที่จะต้องจัดหาอาหารทางเลือกที่จะสามารถนำมาทดแทนกลุ่มอาหารที่ควรจะหลีกเลี่ยงได้ เช่น นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต น้ำนมข้าว นมถั่วเหลือง ที่มีการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร
เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย การตรวจสอบภูมิแพ้อาหารแฝงจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้เราทราบว่าอาหารที่ก่อให้เกิดภาวะแพ้ต่อร่างกาย และควรที่จะหลีกเลี่ยง รวมทั้งอาหารหรือสารอาหารที่จำเป็นที่จะต้องเสริม เพื่อให้มีสุขภาพและภาวะโภชนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
อ้างอิงข้อมูลจาก:
- Harshna Mehta, MD .Growth and Nutritional Concerns in Children with Food Allergy. [National library of medicine]
- Domenico Gargano .Food Allergy and Intolerance: A Narrative Review on Nutritional Concerns. [National library of medicine]